TBC ฉลองครบรอบ 25 ปี ตอกย้ำผู้นำผลิตกระป๋องอลูมิเนียมรักษ์โลก วางเป้าสู่ธุรกิจยั่งยืนในปี 2030 ผุดโรงงานแห่งใหม่ใช้วัตถุดิบจากการรีไซเคิลเพิ่ม
วันที่ 9 พ.ย. 65 “ไทยเบเวอร์เรจแคน” หรือ TBC ฉลองครบรอบ 25 ปี พร้อมลุยแผนธุรกิจ TBC SG 2030 มุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ตั้งเป้าในการใช้อลูมิเนียมรีไซเคิลให้ได้ 85% ภายในปี 2030 ทุ่มงบลงทุน 2,900 ล้านบาท ผุดโรงงานผลิตขวดอลูมิเนียมแห่งแรก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ DWI ผลิตขวดอลูมิเนียมชนิดบางรายแรกของไทยป้อนตลาดในภูมิภาค ซึ่งจะเปิดเชิงพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 2023 หนุนเพิ่มสัดส่วนดึงกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพิ่ม พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการผ่าน “โครงการเปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน เพื่อมูลนิธีขาเทียมฯ”
นายสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนธุรกิจของ TBC ในวาระครบรอบ 25 ปี และก้าวสู่ปีที่ 26 บริษัทพร้อมเดินหน้าในการขยายธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในไทยอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวที่จะยกระดับการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า TBC Sustainability Goals 2030 หรือ TBC SG 2030 ที่สอดรับกับนโยบาย BCG โมเดล (Bio Economy, Cicular Economy, Green Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศ
ทั้งนี้ การก้าวสู่เป้าหมายบริษัทได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถลดปริมาณวัสดุอลูมิเนียมให้บางลง แต่ยังคงความแข็งแรง หรือที่เรียกว่า DWI (Drawing and Wall Ironing Bottles Cans) มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับทิศทางของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะในโรงงานแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่ 54 ไร่ อ.หนองแค จ.สระบุรี เพื่อผลิตขวดอลูมิเนียมโฉมใหม่เพื่อป้อนตลาดในภูมิภาค คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนสิงหาคม 2023 ด้วยกำลังการผลิต 200 ล้านขวดต่อปี นับเป็นโรงงานผลิตขวดเครื่องดื่มอลูมิเนียมแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“สินค้าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มของเรามุ่งเน้นใช้อลูมิเนียมเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ 100% หรือที่เรียกว่า Closed-Loop recycling ซึ่งเป็นการรีไซเคิลแบบวงจรปิด ที่ TBC เป็นรายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างครบวงจร สอดรับกับ TBC SG 2030 ที่วางกลยุทธ์ไว้ 2 ด้านคือ ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) และการสร้างพลังขับเคลื่อนสังคม (Social Impact) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้อลูมิเนียมในผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลคิดเป็น 70% และคาดว่าในปี ค.ศ. 2030 จะเพิ่มเป็นที่ 85% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด” นายสาโรช กล่าว
ตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจนสามารถเป็นผู้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียมรายใหญ่ของประเทศ และสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบและผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และมีส่วนสำคัญในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่การผลิตกระป๋องอลูมิเนียมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบด้วยการรีไซเคิล (Closed-Loop recycling) ที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะเพื่อการบริโภค ภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลและการส่งกลับบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ใช้แล้วเป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ TBC ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทยในการศึกษาและวิจัยเรื่องวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ในแต่ละชนิดมานานกว่า 2 ปี ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า มีการเรียกเก็บกระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้วอยู่ที่ 88% ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ยังมีโอกาสในการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ได้อีก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะประเภทกระป๋องอลูมิเนียมที่มองว่าเป็นขยะที่มีมูลค่าสูงและสามารถนำมาสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง
“เรามีความมุ่งหวังในการดำเนินงาน เพื่อจัดการกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคสังคม และเอกชน ในการผลักดันให้เกิดการเก็บกลับกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นกระป๋องใบใหม่ให้ได้ 100% เพื่อไม่ให้เกิดเป็นขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม” นายสาโรช กล่าว
นอกจากนี้ TBC ยังได้เดินหน้าจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างสังคมที่ดี โดยเฉพาะโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญเพื่อมูลนิธิขาเทียมฯ” โดยได้เปิดรับบริจาคห่วงและกระป๋องอลูมิเนียมที่ใช้แล้วผ่าน “โครงการเปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน เพื่อมูลนิธีขาเทียมฯ” และนำไปแปลงเป็นเงิน เพื่อนำไปซื้ออลูมิเนียมเกรดที่เหมาะสมต่อเพื่อผลิตขาเทียมให้กับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วจึงส่งมอบให้กับผู้พิการต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถนำห่วงและกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วแบบทั้งใบโดยไม่จำเป็นต้องแยกห่วง ร่วมบริจาคได้ที่ห้างบิ๊กซี กว่า 190 สาขา ทั่วประเทศ รวมถึงห้างร้านต่างๆ ที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป