TBC ร่วมงาน “ความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์เพื่อก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”

TBC เข้าร่วมงานสัมมนา “ความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์เพื่อก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Packaging Sustainability Symposium: Embracing the Circular Economy)”
 
 
วันที่ 23 มกราคม 2567 สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย (TBA) จัดงานสัมมนา “ความยั่งยืนของบรรจุภัณฑ์เพื่อก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Packaging Sustainability Symposium: Embracing the Circular Economy)” โดยสมาคมฯ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในการสนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการนำบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือทำประโยชน์ใหม่เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุม Regency Ballroom ชั้น 5 โรงแรม Hyatt Regency กรุงเทพมหานคร
 
 
เวทีเสวนาจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “กรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนและประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ประกอบด้วย
– มิติการประเมินวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ (LCA) เพื่อการจัดการของผู้ผลิตอย่างยั่งยืน โดย Prof. Dr. Shabbir H. Gheewala, Professor and Head Life Cycle Sustainability Assessment Lab มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)
– การพัฒนาร่างกฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย โดย ดร. สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการแห่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– แนวทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม โดยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
 
 
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการนำเสนองานวิจัย โดย รศ.ดร. ตระการ ประภัสพงษา ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Souvik Bhattacharjya (The Energy and Resources Institute, TERI) ซึ่งมุ่งศึกษาข้อดีของการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม และเพื่อให้ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและผู้ผลิตเครื่องดื่ม ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายเพื่อวัตถุประสงค์ในการตัดสินใจในการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งงานวิจัยนี้ครอบคลุมการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกระป๋องอลูมิเนียม ขวดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ขวดแก้ว และกล่องเครื่องดื่ม ตลอดวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ชนิดนั้นๆ