บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ร่วมกับพันธมิตร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR), บริษัท แองโก เอเชีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยมูลนิธิจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3R), สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) และ Thailand Supply Chain Network (TSCN) จัดกิจกรรม Can to Can Journey ตามรอยเส้นทางของกระป๋องอลูมิเนียมหลังการบริโภค ในวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 104 ท่าน จาก 42 องค์กร
กิจกรรม Can to Can Journey เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model: Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกิจกรรมนี้เป็นการพัฒนาและการขับเคลื่อนระบบการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์กระป๋องอลูมิเนียมที่มีวงจรชีวิตหมุนเวียนตามแนวคิดของ Circular Economy และสามารถทำได้อย่างครบวงจรภายในประเทศไทย และถือเป็นโอกาสที่ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้สัมผัสกับเส้นทางของกระป๋องอลูมิเนียม ตั้งแต่กระบวนการผลิต การรวบรวมกระป๋องอลูมิเนียมที่ผ่านการใช้แล้ว ไปจนถึงการนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่อย่างมีคุณภาพ และหมุนวนกลับมาใช้ประโยชน์ต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยมี บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด, บริษัท ไทยเบเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด, บริษัท แองโก เอเชีย กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดวัฏจักรเส้นทางของกระป๋องอลูมิเนียมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้
ทั้งนี้ ภาคการผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมได้ตระหนักถึงการดำเนินงานให้เกิด Circular Economy อย่างเต็มที่ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และได้แสดงความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ผู้ผลิตเครื่องดื่ม ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมถึง TIPMSE สภาอุตสาหกรรม และมูลนิธิ 3R ในการร่วมพัฒนาหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยผลักดันให้มีความเหมาะสมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการตื่นตัวของภาคธุรกิจที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดการบรรจุภัณฑ์กระป๋องอลูมิเนียมหลังบริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด อีกทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมเองยังมุ่งมั่นในการทำ Decarbonization เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงที่สุดจนเป็นศูนย์ ซึ่งการใช้วัสดุอลูมิเนียมรีไซเคิลในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมสามารถช่วยลดพลังงานในการผลิตลงได้ 95% ส่งผลให้การปลดปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นท์ลดลง 30 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ และยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ของลูกค้าในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
กิจกรรม Can to Can Journey ในครั้งนี้ มีผู้ร่วมกิจกรรมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งคณะผู้บริหารและคู่ค้าจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม, กลุ่มบริษัทสมาชิก Thailand Supply Chain Network (TSCN), คณาจารย์มหาวิทยาลัย, NGOs WWF และ GIZ (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนีที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ร่วมติดตามเส้นทางของกระป๋องอลูมิเนียม ซึ่งตลอดเส้นทางได้แสดงถึงการพัฒนาระบบ 100% Closed Loop Recycling หรือการรีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ครบวงจรที่ทำได้จริงและทำได้อย่างต่อเนื่องของทั้ง 4 องค์กร TBC, TBR, Anglo Asia และ UACJ Thailand ในประเทศไทย และนั่นทำให้ไทยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศในเอเชียที่มีห่วงโซ่อุปทานในกระบวนการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม ตั้งแต่การคัดแยก เผาสี หลอม และขึ้นรูปใหม่ได้อย่างครบวงจรภายในประเทศ
ขอขอบคุณผู้ร่วมกิจกรรมและผู้ร่วมจัดงาน Can to Can Journey ในครั้งนี้ทุกท่าน ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างกระป๋องอลูมิเนียมให้ได้หมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย