Aluminum Can Recycling in Thailand

การรีไซเคิลกระป๋องในประเทศไทย

ปัจจุบัน เริ่มมีความสนใจต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรเพิ่มขึ้นผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น (ปัจจุบันมีประมาณ 8 พันล้านคนทั่วโลกและประมาณ 71 ล้านคนในประเทศไทย) หลายคนตระหนักถึงทรัพยากรของโลกที่มีอยู่จำกัด จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรอย่างระวังมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอาหาร น้ำ และที่อยู่อาศัยเพียงพอสำหรับทุกคน

หลายครั้งที่เรามักเห็นแคมเปญ “Reduce, Reuse, Recycle (ลดใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่)” ณ ที่นี้ เราจะมาพูดถึงในหัวข้อสุดท้ายกัน นั่นคือ การรีไซเคิล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียม เนื่องจาก บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด เป็นผู้นำด้านการรีไซเคิลอลูมิเนียมเพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรของโลกนั่นเอง

การรีไซเคิลคืออะไร

ไม่เหมือนกับการลดการใช้ (Reduce) หรือการใช้ซ้ำ (Reuse) ซึ่งเน้นไปที่การใช้สินค้าให้น้อยลง (Reducing) หรือการใช้สินค้าให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Reusing) การรีไซเคิล (Recycling) เป็นการเปลี่ยนของที่อาจดูไม่มีค่าให้กลายเป็นของที่มีค่า ดังนั้นแทนที่จะทิ้งสิ่งของลงถังขยะไปเฉยๆ ของสิ่งนั้นสามารถถูกแยกและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้อีกครั้ง

ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เนื่องจากมนุษย์ได้รับการฝึกฝนให้ Reduce, Reuse, Recycle (ลดใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่) มาหลายชั่วอายุคนแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้การผลิตสินค้าชิ้นใหม่มีต้นทุนที่ถูกลง จึงทำให้ผู้คนชินกับการใช้สิ่งของที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะการโยนทิ้งนั้นเป็นเรื่องง่ายกว่า เช่น การทิ้งขวดน้ำพลาสติกแล้วซื้อขวดใหม่ หรือการทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเพื่อซื้อรุ่นใหม่

แต่ตอนนี้กระแสกำลังกลับมาสู่การรีไซเคิลอีกครั้ง เนื่องจากคนเริ่มตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรซึ่งกำลังส่งผลต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของพวกเรา ตอนนี้หลายคนเริ่มเห็นคุณค่าในการนำสิ่งของที่เคยถูกมองว่าเป็นขยะมาเปลี่ยนเป็นทรัพยากรและสินค้าใหม่

ประโยชน์ของการรีไซเคิลคืออะไร

การรีไซเคิลมีประโยชน์หลายอย่าง อย่างแรกและสำคัญที่สุดคือ การรีไซเคิลช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องเก็บไว้ โดยปกติแล้วขยะจะถูกนำไปทิ้งในพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็กลายเป็นมลพิษทางสายตา (และมลพิษทางจมูกเพราะส่งกลิ่นเหม็น) สำหรับชุมชนบริเวณใกล้เคียง ในประเทศไทยมีพื้นที่ฝังกลบขยะมากกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่รวมถึงพื้นที่ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น บริเวณพื้นที่ฝังกลบเหล่านี้ สารเคมีอันตรายสามารถซึมไปยังดินและน้ำใต้ดิน ทำลายระบบนิเวศในท้องถิ่นและพื้นที่เพาะปลูก

นอกจากนี้ การรีไซเคิลยังสามารถช่วยในเรื่องทรัพยากรที่มีจำกัด ตัวอย่างเช่น การรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมนั้น เราไม่จำเป็นต้องขุดเจาะหาบอกไซต์ ซึ่งเป็นแร่ที่ต้องนำมาบดและทำให้ร้อนเพื่อสร้างอลูมิเนียม เราสามารถคงพื้นที่ธรรมชาติเอาไว้ได้โดยไม่ต้องสร้างเหมือง และความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนทางอากาศรวมถึงการปนเปื้อนในแหล่งน้ำใกล้เคียงก็ลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ การรีไซเคิลยังมีประโยชน์อีกในด้านอื่นๆ ทั้งทำให้ประหยัดเงินและสร้างรายได้ การรีไซเคิลสามารถทำให้ประหยัดต้นทุนได้มากกว่าการผลิตสินค้าใหม่ และในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ผู้คนสามารถมีรายได้เสริมโดยการรวบรวมวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้และขายให้กับสถานที่รีไซเคิลต่างๆ ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2566 กระป๋องอลูมิเนียม 1 กิโลกรัม มีมูลค่าถึง 46 บาท

ประโยชน์ของการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมคืออะไร

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น การรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แม้จะไม่พูดถึงความสามารถในการรีไซเคิลของอลูมิเนียม ลำพังแค่อลูมิเนียมเองก็มีข้อดีมากกว่าวัสดุอื่นๆ อยู่แล้ว ทั้งความทนทานและน้ำหนักเบา ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบความแข็งแรงกับน้ำหนัก อลูมิเนียมจะเบากว่าเหล็กในปริมาณที่เท่ากันถึง 65% และอลูมิเนียมไม่เกิดสนิมต่างจากสินค้าที่ทำจากเหล็กหรือเหล็กกล้า และแม้ว่าอลูมิเนียมอาจเกิดการกัดกร่อนได้ แต่กระบวนการนี้สามารถสร้างชั้นป้องกันของออกไซด์อลูมิเนียมได้

กลับมาที่การรีไซเคิล อลูมิเนียมเป็นวัสดุที่มีข้อดีเฉพาะตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันสามารถรีไซเคิลได้เกือบ 100% โดยมีการสูญเสียหรือความเสื่อมสภาพน้อยมาก นั่นหมายความว่ากระป๋องโซดาอลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลเป็นกระป๋องใบใหม่ที่มีขนาดแทบจะเท่ากัน จากการประมาณการที่ผ่านมาอลูมิเนียมที่เคยผลิตขึ้นมาทั้งหมดยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันเกือบ 75% และในประเทศไทย อัตราการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมนั้นมีมากกว่า 90%

กระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลอย่างไร

เริ่มจากการคัดแยกด้วยมือไปจนถึงการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ผ่านวิธีการต่างๆ กระป๋องอลูมิเนียมจะถูกแยกและคัดตามองค์ประกอบและคุณภาพของอัลลอยด์ จากนั้นทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อน แล้วจึงนำ “ขยะ” อลูมิเนียมไปยังเตาหลอม โดยจะถูกทำให้ร้อนด้วยความร้อนเกือบ 300 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้โลหะละลาย อลูมิเนียมสามารถเก็บไว้ในสภาพเหลว หรือสามารถเทลงในแม่พิมพ์เพื่อทำเป็นก้อนหรือหล่อเป็นเหล็กแท่ง หลังจากนั้นสามารถทำให้เป็นแผ่นหรือขึ้นรูปตามต้องการได้ ดังนั้นกระป๋องโซดาสามารถกลายเป็นกระป๋องโซดาใบใหม่หรือเป็นเคสโทรศัพท์ได้

การรีไซเคิลแบบครบวงจร (Closed-Loop Recycling) คืออะไร

สำหรับวัสดุอื่นๆ หลายชนิด จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบระบบเปิด (Open-Loop Recycling) นั่นหมายความว่า สิ่งของที่นำมารีไซเคิลนั้นไม่ได้ถูกใช้ให้เต็มที่หรือถูกเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ต่อไป ตัวอย่างเช่น ขวดโซดาพลาสติกหลายชนิดสามารถรีไซเคิลเป็นเส้นใยสังเคราะห์เพื่อทำพรมหรือซับในเสื้อคลุมได้ แต่ พรมหรือเสื้อคลุมเหล่านั้นไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลในลักษณะเดียวกันได้อีก

แต่อลูมิเนียมเป็นวัสดุที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบครบวงจร (Closed-Loop Recylcing) ได้ การรีไซเคิลแบบนี้ อลูมิเนียมที่ใช้เกือบทั้งหมดสามารถรีไซเคิลกลับเป็นอลูมิเนียมใหม่ได้ ไม่เพียงแค่เกิดการสูญเสียอลูมิเนียมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่อลูมิเนียมยังคงสภาพเป็นอลูมิเนียมเหมือนเดิม และสามารถกลายเป็นอลูมิเนียมได้อีกหลังผ่านการใช้งานหลายครั้ง นี่คือเหตุผลที่หลายคนสนับสนุนการใช้อลูมิเนียมแทนพลาสติกทุกครั้งที่เป็นไปได้ เนื่องจากอลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน เป็นผู้นำด้านการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม

บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด (TBC) ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์โลหะหลากหลายประเภทสำหรับเครื่องดื่ม อาหาร และสินค้าอื่นๆ บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน และเพื่อเป้าหมายนั้น ได้นำกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Strategy) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ในปี 2563 TBC ร่วมกับอุตสาหกรรมผู้ผลิตและพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมในกระบวนการที่เป็นการรีไซเคิลแบบครบวงจร (Closed-Loop) อย่างแท้จริง นอกเหนือจากการปรับใช้การรีไซเคิลเข้ากับการดำเนินธุรกิจ TBC ยังมีส่วนร่วมในโครงการ Aluminium Loop ซึ่งส่งเสริมการรีไซเคิลในหมู่ผู้บริโภคและชุมชนผ่านแคมเปญต่างๆ และมีการจัดตั้งและดูแลจุดรับรีไซเคิลทั่วประเทศ